*** ประวัติความเป็นมาประเพณีเลี้ยงขันโตก ***




ประเพณีเลี้ยงขันโตก เป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา
การเลี้ยงแขกโดยการกินข้าวขันโตก อาจมีหลายชื่อที่เรียกขานกัน เช่น กิ๋นข้าวแลงขันโตก
หรือเรียกสั้นๆ ว่า ประเพณีขันโตกหรือสะโตก ถ้าเป็นขันโตกสำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือหรือคหบดี
ก็ดัดแปลงให้หรูหราขึ้นตามฐานะ บ้างก็ใช้เงินทำหรือ "ทองกาไหล่" หรือไม่ก็ลงรักปิดทอง
ในสมัยก่อนชาวเหนือนิยมรับประทานอาหารกับพื้น เมื่อแม่บ้านทำกับข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็จะยกออกมาตั้งโตก โดยในขันโตกนั้นจะมีกับข้าวพร้อมและเมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว
ก็ยกไปเก็บทั้งโตก เป็นการประหยัดเวลาในการจัดและเก็บ ถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวเหนือ
ที่ปฏิบัติสืบต่อ จุดมุ่งหมายของการกินข้าวขันโตกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ก็ได้มีการพัฒนามาจากสมัยก่อน โดยถือว่านอกจากเป็นการเลี้ยงดูแขกที่มาเยือนให้ดูหรูหราสมเกียรติ
เพื่อให้เกิดความอบอุ่นประทับใจในการต้อนรับ จะเห็นว่าการกินข้าวขันโตกของชาวเหนือนั้น
นอกจากจะมีจุดมุ่งหมาย เพื่อแสดงน้ำใจต้อนรับแขกและให้เกียรติแก่ผู้มาเยือน
ในปัจจุบันก็ยังได้มีจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่หลายประการ เช่น บางท้องถิ่นก็จัดงานเลี้ยงขันโตก
เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตน ฟื้นฟูการแต่งกายแบบพื้นเมือง
การทำอาหารพื้นเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านมีรายได้มีงานทำด้วย
บางแห่งก็จัดงานข้าวขันโตก เพื่อหารายได้สำหรับสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น
นอกจากจะใช้เลี้ยงแขกต่างบ้านต่างเมืองแล้ว ในชีวิตประจำวันชาวเหนือก็มีการกินข้าวขันโตก
กันเป็นประจำในหมู่ครอบครัวหรืออาจกินกันในโอกาสที่ได้ทำบุญทำทาน เช่น งานทำบุญบ้าน ทำบุญ งานปอยหลวง
งานประเพณีหมู่บ้าน งานบวชพระหรือสามเณร หรืองานมงคลสมรส ฯลฯ


หน้าถัดไป     กลับเมนูหลัก




จัดทำโดย : นางสาวปนัดดา อินต๊ะนนท์

รหัสประจำตัวนักศึกษา : 500210012

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

E-mail: ha_ru_jangza@hotmail.com