หน่วยที่ 2
การออกแบบของที่ระลึก

การออกแบบของที่ระลึก

                การออกแบบของที่ระลึกเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการ  แนวทาง  ความนึกคิด  การจัดรวบรวม  การลำดับ  การเลือกและการริเริ่มโดยมีวัตถุประสงค์ของรูปแบบที่จะสร้างอยู่ที่ประโยชน์ในการตกแต่งเป็นสำคัญและให้มีรูปลักษณะของสิ่งที่จะสร้างเป็นสื่อหรือสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ  เข้าใจง่าย  เร้าใจ  มีความเหมาะสม  กะทัดรัด  มีความเป็นระเบียบและมีความสวยงามเป็นประการสำคัญ  อย่างไรก็ตามความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการออกแบบของที่ระลึกมักจะเปลี่ยนไปตามสมัยอาจเป็นเพราะอิทธิพลบางอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานออกแบบและวงการของที่ระลึกมากขึ้นก็ได้ เช่น  ความก้าวหน้าทางวิชาการ  ความก้าวหน้าทางความนึกคิด  ความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุดของมนุษย์  การแข่งขันในส่วนตัวบุคคล  การตลาด  สภาวะทางเศรษฐกิจ  สภาพของสังคมแบบใหม่  การค้นพบวัสดุใหม่ทางการผลิต  สภาพความจำเป็นของการดำรงชีวิต ความประหยัด  วัฒนธรรมและอื่นๆ  ตลอดรวมไปจนกระทั่งเหตุผลทางการเมือง  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องความซับซ้อนของสังคมอันมีผลต่อความคิดรวบยอดของบุคคลผู้ออกแบบทั้งสิ้น

 

 

จุดมุ่งหมายและสามเหตุของการออกแบบของที่ระลึก

                การสร้างสรรค์สิ่งใดๆ ก็ตามย่อมต้องมีแนวคิดอันเป็นเหตุแห่งการกระทำนั้นๆ
การออกแบบของที่ระลึกก็เช่นเดียวกัน  ย่อมต้องมีจุดมุ่งหมายหรือสาเหตุของการออกแบบนั้น ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น

1.       เป็นการออกแบบเพื่อพัฒนาอาชีพ  และแข่งขันกันในด้านการผลิต

2.       เป็นการออกแบบที่มีผลมาจากความรักในการงาน  อันเป็นการกระทำด้วยใจรักในการที่จะสร้างสรรค์งานของที่ระลึก

3.       เป็นการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอดให้เป็นไปตามยุคสมัยที่มีความนิยม

4.       เป็นการออกแบบเพื่อสร้างผลงานตอบสนองความเชื่อทางลัทธิ  ประเพณี 

5.     เป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการทางร่างกาย  ทางจิตใจและความต้องการทางด้านอื่นๆของบุคคลโดยส่วนรวมและโดยส่วนตัว

6.     เป็นการออกแบบเพื่อผลประโยชน์ที่พึงได้รับ  อามิสสินจ้าง  รางวัล  หรือเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาข้อตกลง  ข้อผูกมัด  อันเป็นความผูกพันระหว่างผู้ออกแบบกับผู้จ้าง

7.       เป็นการออกแบบเพื่อทดสอบความมุ่งหมาย  กฎเกณฑ์  ข้อกำหนด

8.       การออกแบบอันเป็นผลเนื่องมาจากความนิยมทางปรัชญาธรรมวัตถุ  สิ่งที่เป็นอนุสรณ์

9.       เป็นการออกแบบอันมีผลเนื่องจากชาตินิยม  เพื่ออนุรักษ์สิ่งที่ดีเด่นและแบบแผนดั้งเดิมไว้ให้ปรากฏต่อไป

10.    เป็นการออกแบบตามลัทธินิยมทางศาสนา  ความเชื่อ  ความศรัทธา  ที่มีต่อรูปวัตถุ

11.   เป็นการออกแบบอันเป็นผลเนื่องมาจากความรัก  ความเกลียดชัง  ความสมหวัง  ความผิดหวัง  ความหวาดกลัว  รวมทั้งผลกระทบทางจิตใจ  ทั้งสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่เหนือความเป็นจริง

12.    เป็นการออกแบบเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่  การกำหนดแม่บทหลังของการทำงาน  และกฎเกณฑ์

13.   เป็นการออกแบบอันมีผลมาจากความริเริ่ม  จิตนาการ  และแนวความคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานนั้นๆให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

14.    เป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความรู้สึกนึกคิดที่เป็นอิสระ  เสรี

15.   เป็นการออกแบบเพื่อสร้างรสนิยมใหม่  เปลี่ยนแนวคิดของบุคคลว่าสิ่งของรูปแบบเช่นนั้น  ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อประโยชน์เช่นนั้นตลอดไป  อาจใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นอีกก็ได้

16.   เป็นการออกแบบเพื่อความเหมาะสมกับวัสดุ  เหมาะสมกับเครื่องมือเครื่องจักร เพื่อความประหยัดและมีประโยชน์ใช้สอย  มีความคงทนถาวร

ฯลฯ

 

ลำดับขั้นตอนของการออกแบบของที่ระลึก

                การออกแบบเพื่อกำหนดสร้างของที่ระลึกในแต่ละครั้ง  หากได้มีการกำหนดแน่นอนลงไปทั้งรูปแบบ  ประเภท  วัสดุ  การนำไปใช้  ฯลฯ  โดยมีการสำรวจและวางแผนที่มีเป้าหมายชัดเจนย่อมทำให้ของที่ระลึกที่จะผลิตสร้างขึ้นนั้น  มีความหมายมากกว่าการออกแบบสร้างขึ้นอย่างไร้เป้าหมาย  ทั้งนี้เนื่องจากของที่ระลึกอาจเปรียบได้ดังสื่อสัญลักษณ์  สิ่งที่ใช้แทนบุคคล  เหตุการณ์  สถานที่  ฯลฯ อันมีความหมายต่อความรู้สึกนึกคิดในทางการกระตุ้นร้าจูงใจให้คิดและระลึกถึง  ดังนั้นลำดับขั้นของการออกแบบควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

1.       กำหนดประเภทของรูปแบบ 

การกำหนดประเภทคือการกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นในเรื่องรูปแบบว่าจะให้มีแนวโน้มไปในลักษณะใด เช่น  อาจกำหนดให้มีรูปแบบในลักษณะตามประเพณีนิยมก็อาจออกแบบจำกัดให้ชัดลงไปว่าจะเป็นประเพณีนิยมแบบสากลทั่วไป  หรือเป็นรูปแบบประเพณีนิยมเฉพาะของท้องถิ่น  ของภูมิภาค  ของหมู่บ้าน ฯลฯ  หรืออาจกำหนดสร้างให้มีรูปแบบในลักษณะตามสมัยนิยม  ก็อาจออกแบบจำกัดให้ชัดลงไปได้ว่าจะเป็นรูปแบบที่กำลังนิยมอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน  หรือรูปแบบที่กำลังจะเป็นที่นิยม  และรูปแบบที่พยายามจะสร้างให้กลายเป็นความนิยมขึ้นใหม่ในโอกาสต่อไป  และถ้าจะกำหนดเป้าหมายในเรื่องรูปแบบให้เป็นลักษณะเฉพาะนั้นเป็นรูปแบบเฉพาะ  ของอะไร  ของบุคคล  เหตุการณ์  งาน  สถานที่  ฯลฯ

2.       เก็บรวบรวมข้อมูล 

การอกแบบสร้างสื่อสัญลักษณ์ สิ่งของแทนบุคคล  เหตุการณ์  สถานที่ ฯลฯ  หรือแทนสิ่งใดๆก็ตาม  ผู้ออกแบบควรเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบให้มีลักษณะสอดคล้องกับความเป็นความเป็นสิ่งนั้นอย่างแท้จริง  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะเป็นประวัติเรื่องราวรายละเอียด  รูปภาพ  หลักฐานเอกสารสิ่งตีพิมพ์ ฯลฯ

3.       สำรวจค่านิยม

ในปัจจุบันของที่ระลึกมีส่วนผูกพันกับค่านิยม รสนิยมของบุคคลอยู่มากคำว่า "ค่านิยม"  อาจหมายถึงความสนใจ  ความพึงพอใจ  ความชอบ  ความนิยม  หน้าที่ 
พันธกรณี  ความปรารถนา  ความอยาก  ความต้องการ  ความแหนงหน่าย  และความดึงดูด  หรือความรู้สึกอื่นที่มนุษย์มีต่อผลผลิต  มีต่อการกระทำสิ่งเหล่านี้มนุษย์ยึดถือไว้สำหรับเป็นแนวทางในการใช้เลือกหรือแนวทางในการจัด  การรวบรวมองค์ประกอบของสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน  ด้วยวิธีการที่เหมาะสมจากคำจำกัดความของคำว่า "ค่านิยม"  คำเดียว  บางครั้งก็ให้ความหมายต่อการทำงานของมนุษย์เป็นอย่างมากในการออกแบบ  เพราะมีส่วนผูกพันกับค่านิยมทั้งตัวนักออกแบบเอง  และรวมไปถึงผู้ใช้ผู้บริโภคด้วย  ค่านิยมจึงเป็นสิ่งที่มีผลต่อการออกแบบสร้างของที่ระลึกอย่างกว้างขวางผู้ที่สร้างสรรค์ต้องใช้ความสังเกตและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่านิยมของผู้ใช้บริโภคไว้เป็นพื้นฐานประกอบการตัดสินใจในการออกแบบ

4.       การจับประเด็นสำคัญของข้อมูลเพื่อกำหนดรูปแบบ 

จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมผู้ออกแบบจะต้องนำมาคัดเลือกกลั่นกรองเอาแต่เฉพาะช่วงตอนที่เป็นประเด็นสำคัญ  เพื่อถ่ายทอดสร้างสรรค์เป็นรูปแบบ  การจับประเด็นสำคัญในข้อมูลนั้นขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบต้องการเน้นย้ำในด้านใดทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลทั้งมวลอาจเป็นเรื่องราวของความรัก  ความพลัดพราก  ความปิติยินดี  ความตาย  ความกล้าหาญ  ความเชื่อ  ความศรัทธา  ความกล้าหาญวีรกรรม ฯลฯ  ซึ่งเรื่องราวอันก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจจากข้อมูลเหล่านี้  ย่อมสามารถกระต้นเตือนหรือเน้นย้ำความทรงจำได้ต่างกันหากเรื่องราวเป็นที่ประทับใจ  ความทรงจำก็จะฝังแน่นยาวนานกว่าเรื่องราวที่ปกติธรรมดาดังนั้น  ผู้ออกแบบจึงควรมีความเข้าใจในการแยกแยะข้อมูล  และจับประเด็นความรู้สึกอันถูกกระตุ้นเร้าจากข้อมูลที่ได้ผนวกกับ "ค่านิยม"  แปลค่าออกมาเป็นสื่อสัญลักษณ์สิ่งแทน

5.       กำหนดคุณค่าและการนำไปใช้ 

การจับประเด็นที่เป็นเนื้อหาเรื่องราวเพื่อกำหนดถ่ายทอดเป็นรูปแบบให้สอดคล้องกับค่านิยมนั้น  สามารถกระตุ้นเร้าทางความรู้สึกให้เกิดความประทับใจอันเป็นค่าทางความรู้สึกหรือคุณค่าภายใน  ส่วนคุณค่าอีกประการหนึ่งที่ผู้ออกแบบควรคำนึงควบคู่กันไปด้วยคือ  คุณค่าภายนอกหรือคุณค่าทางกายภาพของวัตถุ  คุณค่านี้อาจจะเกิดจากการนำวัสดุที่มีคุณค่าในตัวเองอยู่บ้างแล้วมาสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึกเช่น อัญมณี  งา  แก้ว  ทอง ฯลฯ  หรือค่าของงานอยู่ที่ความเก๋  กะทัดรัด  แปลกตา  น่าทึ่ง  สวยงาม  มีคุณค่าต่อการมอง  สามารถบันดาลให้เกิดความภาคภูมิใจ  มีเกียรติ  มีสง่าราศี  ดังนี้เป็นต้น  และคุณค่าอีกลักษณะหนึ่งก็คือคุณค่าที่เกิดจากการนำไปใช้  ในปัจจุบันของที่ระลึกมักออกมาในรูปของสิ่งของเครื่องใช้  เครื่องประดับ  ที่ได้รับการออกแบบให้มีความหมายว่าเป็นของที่ระลึก  นับว่าเป็นความคิดที่ดีผู้รับสามารถใช้ประโยชน์จากของที่ระลึกได้ด้วยซึ่งดีกว่าตั้งไว้เพื่อคุณค่าทางจิตใจหรือคุณค่าทางความงามเฉยๆ ซึ่งรูปแบบที่ใช้ในการออกแบบอาจดัดแปลงแปรรูปจากสิ่งของเครื่องใช้  เครื่องประดับที่มีปรากฏอยู่แล้วให้เป็นของที่ระลึก เช่น เอาถ้วยชาม  ช้อนส้อม  จาน ฯลฯ ย่อขนาด  และสัดส่วนลงให้พอเหมาะแล้วกำหนดสัญลักษณ์ของที่ระลึกลงไป  ก็เป็นของที่ระลึกได้โดยสมบูรณ์

6.       ข้อควรคำนึงในด้านผลิตและการตลาด

หากของที่ระลึกจะออกแบบนั้นเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายโดยผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก  ผู้ออกแบบอาจต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ อีกดังนี้

ของที่ระลึกนั้นจำเป็นหรือมีคนนิยมหรือไม่ ใช้ประโยชน์ได้หรือเปล่า

-  ของที่ระลึกนั้นผลิตขึ้นมาได้ง่ายหรือไม่ วัสดุที่จะนำมาประดิษฐ์นั้นมีอยู่พอเพียงและหาได้ง่ายประการใด

-  จะใช้วัสดุอะไร สีอะไร  การชักเงาเคลือบผิวอย่างไร

-  การนำออกโชว์  การขนส่ง  ทำได้ง่ายหรือเปล่า  จะต้องจัดใส่หีบห่อหรือต้องระมัดระวังเป็นพิเศษประการใด

-  วัตถุดิบอะไร  ชิ้นส่วนมากน้อยเพียงไหน  ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไร เรื่องแรงงานเป็นอย่างไร  ออกแบบแล้วผลิตขึ้นได้หรือไม่  จะผลิตให้ถูก  มีคุณสมบัติและรวดเร็วขึ้นได้อย่างไร

-  จะซื้อวัสดุได้หรือไม่  ควบคุมคุณภาพได้อย่างไร  จะใช้วัสดุอะไรแทนกันได้บ้างและสามารถผลิตวันละเท่าไร่  เดือนหรือปีละเทาใด

-  ตลาดสินค้าของที่ระลึกนั้นๆ สำหรับคนไทยหรือชาวต่างประเทศ

-  ตลาดมีขอบเขตกว้างแค่ไหน  เป็นตลาดท้องถิ่น  ทั่วประเทศ  หรือตลาดต่างประเทศ

-  จะนำสินค้าออกสู่ตลาดโดยวิธีใด

-  ลูกค้าชอบและไม่ชอบอะไร  เช่น สี  วัสดุ  รูปร่าง ฯลฯ ลูกค้าต้องการอะไร  จำเป็นต้องใช้อะไร  มีความสามารถซื้อได้หรือไม่

-  ของที่ระลึกประเภทเดียวกันนี้มีผู้ผลิตแข่งขันรายอื่นหรือไม่  มีอยู่แพร่หลายเพียงไร ราคาเป็นอย่างไร  คุณภาพเป็นอย่างไร  และรูปร่างเป็นอย่างไร

ฯลฯ

 

 

 สรุป

การศึกษาวิชาการออกแบบของที่ระลึกนี้  นอกจากจะต้องมีความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับของที่ระลึก  หลักการออกแบบและการฝึกปฏิบัติงานแล้ว  ยังจำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นผู้ใฝ่รู้ติดตามการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย  จึงจะทำให้เป็นนักออกแบบที่ดีในอนาคต

 

ทบทวนบทเรียน

จงเรียงลำดับขั้นตอนการออกแบบของที่ระลึก

  

แบบฝึกหัด

(คะแนนเต็ม 20 คะแนน)

  1. นักศึกษาทำแบบฝึกหัดต่อไปนี้ให้ครบทุกข้อ ให้ได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่า 80%
  2. เมื่อทำเสร็จแต่ละข้อให้คลิกปุ่ม Check Answer เพื่อยืนยันการตอบ และดูคะแนน
  3. หลังจากทำเสร็จทุกข้อ ให้นักศึกษาเลื่อนไปท้ายบทเรียนหน้านี้ เลือก Print Score Summary
    เพื่อดูผลคะแนนและพิมพ์คะแนนส่งอาจารย์

1. จงเลือกคำตอบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ ให้ถูกต้อง

 Toggle open/close quiz question

 Toggle open/close quiz question

 Toggle open/close quiz question

 Toggle open/close quiz question

 Toggle open/close quiz question

2. จงเรียงลำดับขั้นตอนการออกแบบของที่ระลึกให้ถูกต้อง