การออกแบบของเล่นสำหรับเด็ก

            เด็กกับของเล่นเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้  การเล่นของเด็กเป็นกิจกรรมทางชีวภาพอย่างหนึ่ง  ของเล่นสำหรับเด็กมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการหลายๆ ด้านในการเจริญเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา

            สิ่งสำคัญของการออกแบบของเล่น คือ  การสร้างความหลากหลายในการเล่น ไม่ซ้ำซากจำเจ  เล่นได้หลายแบบ ควรมีการทดสอบโดยการให้เด็กทดลองเล่น เพื่อศึกษาถึงข้อบกพร่อง   ต่างๆ  และแก้ไขปรับปรุงจนเกิดความแน่ใจว่าเหมาะสมแล้ว  จึงค่อยตัดสินใจทำการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

            การออกแบบและผลิตของเล่นสำหรับเด็กนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากและละเอียดอ่อน  นักออกแบบจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด  ดังนี้

*      ข้อแตกต่างหรือข้อจำกัดทางธรรมชาติของเด็กในแต่ละวัย ในแต่ละช่วงอายุ  ความสามารถในการรับรู้  และการประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อและสายตาจะแตกต่างกัน  จึงต้องกำหนดจุดมุ่งหมายที่แน่นอนของการเล่น  ความยากง่ายในการเล่น  ประโยชน์ที่จะได้รับ

*      ความปลอดภัย และการคาดเดาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขันจากการเล่น เช่น ส่วนประกอบของของเล่นต้องแน่นหนา ไม่หลุด หรือแตกแยกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ และไม่ควรมีปลายแหลมหรือขอบคม

*        วัสดุที่นำมาผลิตปลอดภัย  ไม่มีสารพิษเจือปน สีที่ใช้พ่นหรือทาต้องเป็นสีประเภทปลอดสารพิษ (non  toxic)

*      หีบห่อที่บรรจุของเล่นต้องมีคำอธิบายวิธีการเล่น  บอกอายุที่เหมาะสมของเด็ก เพราะของเล่นแต่ละชนิดจะมีข้อบกพร่องถ้าใช้ไม่ถูกกับวัย  กรณีที่เป็นของเล่นที่อาจเกิดอันตราย ควรมีคำเตือนเรื่องอันตรายด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างช่วงอายุกับลักษณะการเล่นของเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กสรุปแนวทางเพื่อใช้ประกอบการออกแบบของเล่นเด็กคร่าวๆ  ได้ดังนี้

        - ช่วงแรกเกิด วัยนี้มีการตอบสนองต่อ กลิ่น รส เสียง  สัมผัส และภาพที่มองเห็น ของเล่นจะช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับขนาด  รูปทรง  เสียง  ความหยาบละเอียดของพื้นผิว ฯลฯ  แต่ของเล่นควรมีขนาดใหญ่เพื่อป้องกันเด็กกลืนลงคือ  น้ำหนักเบาพอที่มือเด็กจะถือได้  ไม่มีเหลี่ยมหรือส่วนแหลมคม  สีสันสดใส  สีที่ทาเคลือบไม่มีอันตราย  เมื่อเด็กโตจนใช้มือคว้าจับสิ่งของได้  ของเล่นควรมีลักษณะเขย่ามีเสียง มีหลายรูปทรง ตุ๊กตานุ่มๆ ที่เย็บแน่นหนาไม่ฉีกขาดง่าย จะเหมาะสำหรับสัมผัสกอดรัด  แต่ไม่เหมาะกับการดูดหรือเคี้ยว

            เด็กเล็กที่กำลังนั่งจะพร้อมสำหรับของเล่นแท่งไม้  ถ้วย หรือกล่องต่างขนาดหลายๆ  ใบ  มีรูปภาพและสีสันสดใส  เริ่มสนุกกับหนังสือภาพ แต่ต้องออกแบบให้แข็งแรง ควรเป็นรูปภาพที่เด็กคุ้นเคย  เมื่อเด็กเริ่มคลานหรือหัดเดินจะพร้อมสำหรับของเล่นประเภทลากดึงและลูกบอล

       -  ช่วงเด็กอายุ 1 – 3 ขวบ เด็กจะสนใจเพียงเวลาสั้นๆ ต้องการของเล่นสำหรับร่างกายที่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง  โดยเฉพาะของเล่นสำหรับขี่และปีนป่าย เช่น รถ 3 ล้อเล็กๆ รถเข็นที่นั่งแล้วลากดึงได้  ของเล่นกลางแจ้ง

          ช่วงใกล้  2  ขวบ  เด็กจะเริ่มชอบเล่นสมมุติเลียนแบบโลกที่อยู่รอบๆ ตัว  เริ่มสนใจของเล่นที่มีหลายๆ  ชนิดอยู่ในชุดเดียวกัน เช่น  ชุดถ้วยชามสำหรับทำอาหาร แท่งไม้ขนาดต่างๆ  เกมปริศนาง่ายๆ  เครื่องดนตรี  เช่น  ออร์แกนเหล็ก แตร และกลอง มักจะเล่นอยู่คนเดียว ทักษะทางกล้ามเนื้อและสายตายังไม่สัมพันธ์กันดีพอ  ควรออกแบบของเล่นที่มีขนาดพอดี ไม่ยุ่งยากซับซ้อน  สีสันสดใส  โดยเฉพาะแม่สี  และสีที่พบเห็นในสภาพแวดล้อม เช่น สีเขียวหมายถึงต้นไม้  สีฟ้าหมายถึงท้องฟ้า  เป็นต้น

         -  ช่วงเด็กอายุ 3 – 5 อายุ  ของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน  แต่ยังเป็นเพื่อนและผู้คุ้มครองอีกด้วย  บางครั้งเด็กๆ จะระบายและแบ่งปันความรู้สึกสู่ของเล่น  ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวและควบคุมอารมณ์ได้แทนที่จะเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเองจนอาจเกิดความเครียดได้  เด็กในวัยนี้ชอบของเล่นประเภทเสื้อผ้าชุดละคร เงินปลอม  อาหารปลอม โทรศัพท์  บ้านตุ๊กตา โรงละคร ของที่จำลองจากชีวิตจริง และของเล่นที่เกี่ยวกับการขนส่งหรือเคลื่อนย้าย เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล  รถบรรทุก รถไฟ รถแทรกเตอร์ เครื่องบิน เป็นต้น  รวมทั้งพาหนะที่มีล้อและจักรยานเด็กที่ขับเคลื่อนได้จริง

           ทักษะความจำและการคิดในใจ พัฒนาได้ด้วยของเล่นที่ใช้จินตนาการและการคำนวณในใจ  เช่น เกมบนกระดาษ  หนังสือ และอุปกรณ์ศิลปะ

          -  ช่วงเด็กอายุ  6 – 9  ขวบ  เด็กในวัยนี้จะมีการเข้าสังคมมากขึ้น สนุกกับการเล่นรวมกลุ่ม  อยากรู้อยากเห็นโลกรอบตัว  ของเล่นที่สนใจจะเป็นพวกเกมการแข่งขันกีฬาที่ย่อขนาดลงมาเล่นบนโต๊ะ  เครื่องมืองานช่าง หุ่นจำลองที่มีอากัปกิริยาต่างๆ ตุ๊กตาที่มีเสื้อผ้าผลัดเปลี่ยนหลายๆ แบบ  อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ รถยนต์บังคับ และวีดีโอเกม โดยเกมที่ดีมีคุณภาพจะช่วยพัฒนาทักษะการประสานงาน การวางแผน การพลิกแพลง และความสัมพันธ์ของสายตา  ความคิด และมือ

           ทักษะการใช้กล้ามเนื้อพัฒนาดีขึ้น กระฉับกระเฉง และใช้ร่างกายได้คล่องแคล่วมากขึ้น สามารถเล่นถีบจักรยาน 2 ล้อ สเกต ไม้เลื่อน และอุปกรณ์กีฬาอื่นๆได้ สามารถเล่นอย่างมีกฎเกณฑ์ได้

ช่วงเด็กอายุ  9 – 12  ขวบ  เด็กในวัยนี้ต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ ชอบเล่นเป็นทีม ทักษะทางสังคมและสติปัญญาจะถูกขัดเกลาให้เฉียบแหลมขึ้นด้วยเกมที่ต้องใช้ความคิดและการตัดสินใจ  เช่น  เกมกระดาษประเภทหมากรุก  หมากฮอส  ไพ่  หรือเกมอิเลคทรอนิกส์ต่างๆ  สนใจการเล่นที่ซับซ้อน เช่น งานไม้ งานก่อสร้าง  การต่อภาพหรือรูปทรงที่ซับซ้อนมากขึ้น เกมปริศนา งานศิลปะ และดนตรี  เป็นต้น

 


Click to close