การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

             แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  หรือการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดที่เรียกกันทั่วไปว่าผลิตภัณฑ์สีเขียว(Green product)นั้น  มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ ที่มีแนวโน้มการบริโภคที่เร็วขึ้น เบื่อแล้วทิ้ง ทำให้เกิดขยะมากมายที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ผลิตภัณฑ์นั้นยังไม่เสีย หรือชำรุด เพียงบางส่วนซึ่งสามารถซ่อมแซมใช้ใหม่ได้

            จากแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  กลายเป็นแรงกดดันให้ทุกฝ่ายต่างต้องมีจิตสำนึกในการสร้างสรรค์จรรโลงสภาพแวดล้อมที่สมดุลให้แก่สังคมส่วนรวม ดังนั้นในขั้นตอนของกระบวนการออกแบบ นักออกแบบสามารถเลือกใช้แนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ดังต่อไปนี้

- ออกแบบให้สามารถถอดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อง่ายต่อการถอดประกอบ ง่ายต่อการขนส่ง  และง่ายต่อการนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่(Recycle)

- เลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือสามารถย่อยสลายได้  เป็นการแก้ปัญหาทางด้านนิเวศวิทยา  หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เช่น  Bio-polymer

- ใช้วัสดุในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อลดการใช้พลังงานในการเคลื่อนย้าย

- ใช้วัสดุหรือพลังงานในการผลิตให้น้อยลง

- เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ให้บริโภคช้าลง (Slow-Flow)

- ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทานใช้งานได้นานขึ้น เช่น กันน้ำ ทนกระแทก เปลี่ยนเฉพาะฝาครอบแทนการทิ้งทั้งชิ้น

- ผลิตภัณฑ์หนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์อีกอย่างได้ หรือเป็นลักษณะอเนกประสงค์  เช่น เตียงเด็กเมื่อเด็กโตขึ้นไม่ได้งานแล้ว สามารถปรับเปลี่ยนเป็นโซฟาหรือโต๊ะเขียนหนังสือได้  ทีวีเมื่อเสียแล้วถอดจอภาพออกกลายเป็นตู้เก็บของที่วางซ้อนกันได้

- ให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางจิตใจ  เช่น ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความทรงจำที่ดี  จนทำให้ไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์นั้น เช่น พิมพ์ภาพสัญลักษณ์  ข้อความหรืออื่นๆไว้ให้สามารถรำลึกหรือเชื่อมโยงความทรงจำที่ดีได้

           ผลิตภัณฑ์แนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในแง่ของผู้บริโภค  ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ยังมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้อยู่มาก การจะประสบความสำเร็จทางการตลาด  ต้องสามารถเปรียบเคียงกับคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งานกับผลิตภัณฑ์เดิม เช่น ประหยัดกว่า ปลอดภัยกว่า ราคาถูกกว่า เป็นต้น

 

           ในการออกแบบผลิตภัณฑ์  ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งหมด  แม้ว่าจะเป็นผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย  ดังนั้นก่อนดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์ใดๆ  จึงควรศึกษาค้นคว้าและวิจัยถึงลักษณะความต้องการของผู้บริโภคให้ละเอียด รวมถึงการพยากรณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต  การค้นพบวัสดุชนิดใหม่  ค่านิยมของสังคมที่เกิดขึ้นใหม่  เป็นต้น  

การวิจัยเชิงปริมาณดังกล่าวควรจะตอบคำถามต่อไปนี้ได้

*       มีผลิตภัณฑ์ใดอยู่ในตลาดบ้าง  และผู้บริโภคสนองตอบต่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอย่างไร

*       ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นใช้กันอย่างไร

*       ใครเป็นผู้ใช้

*       ใช้ตอนไหน ในสภาพการณ์อย่างไร

*       ผลิตภัณฑ์ใดแข่งขันกับตัวใด  หรือใช้แทนตัวใด

*       คุณลักษณะใดของผลิตภัณฑ์ที่ชักนำผู้บริโภคให้มาใช้ผลิตภัณฑ์นั้น

 

การออกแบบผลิตภัณฑ์ตลาดเฉพาะกลุ่ม

            ผลิตภัณฑ์หลายอย่างออกแบบมาเพื่อ ใช้กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ หรือใช้ในบางสถานที่เท่านั้น แต่สำหรับผลิตภัณฑ์บางอย่างก็เหมาะสมกับการใช้งานในบางกลุ่มคน เช่น  สุขภัณฑ์สำหรับเด็ก  โทรศัพท์สำหรับคนตาบอด  เป็นต้น

            จุดมุ่งหมายของการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม  ก็เพื่อจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหญ่ที่มุ่งสู่ตลาดหลัก  ซึ่งเป็นการทำตลาดที่วัดกันด้วยปริมาณมาก(Economies of scale)  ทั้งในการผลิต  การจัดจำหน่าย  และการส่งเสริมการตลาด 

             ช่องว่างการตลาดที่มุ่งสร้างความแตกต่างผลิตภัณฑ์ออกจากตลาดใหญ่  ยังมีโอกาสอีกมาก  แต่เราต้องทำความเข้าใจลูกค้าอย่างจริงจังและรวดเร็วกว่าคู่แข่ง  ต้องเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของลูกค้า  ทัศนคติ  การตัดสินใจ และวิถีการดำเนินชีวิต(Lifestyle)  มาเป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดทิศทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มนั้น  การเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มต่างๆ  ยังช่วยให้ค้นพบถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ในใจของลูกค้า และสามารถที่จะตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็ว  และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ  ที่แตกต่างได้

พื้นฐานการตลาดเพื่อเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า ประกอบด้วย  3  ขั้นตอน

1.       หากลุ่มลูกค้าหลักให้เจอเสียก่อน (Core  prospects)

2.       ค้นหาความต้องการของเขา (Unnerved need)

3.       ตอบสนองด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีใครมีในตลาด (Responsive)


Click to close