การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นคุณค่าทางความงาม

           รูปลักษณ์ที่งดงามสะดุดตานับเป็นหัวใจพื้นฐานของผลิตภัณฑ์  และผลิตภัณฑ์บางประเภทประเด็นในการพิจารณาเลือกซื้อของผู้บริโภค  อาจไม่ใช่เรื่องของสมรรถนะหรือคุณสมบัติพิเศษโดดเด่นสำหรับการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น  แต่กลับเป็นความพึงพอใจในความงามของรูปโฉมภายนอกเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อ  แนวคิดนี้มีลักษณะที่สนองตอบค่านิยมในสังคมมากกว่าความจำเป็นหรือความต้องการขั้นพื้นฐาน  สอดคล้องกับสุภาษิตไทยที่ว่า  ไก่งามเพราะขน  คนงามเพราะแต่ง ได้แก่  ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องประดับ เสื้อผ้า ของขวัญ เฟอร์นิเจอร์  และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นคุณค่าทางประโยชน์ใช้สอย

          หลักการดำเนินธุรกิจต้องถือว่าผู้บริโภคมีความหมายและสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจ  ผู้บริโภคยุคใหม่มีความรู้และมีวิจารณญาณที่ดีขึ้นในการพิจารณาเลือกซื้อสิ่งของต่างๆ ไม่ถูกชักจูงง่ายและซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่าโดยแท้จริงต่อการใช้อุปโภคบริโภค 

          การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล(Research)  เพื่อกำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน  และควรตระหนักอยู่เสมอว่าผู้บริโภคมักจะซื้อสินค้าที่เขาเชื่อว่าจะแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับเขาได้  ดังนั้นปัญหาจึงเป็นตัวกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งเสมอ  แนวคิดนี้จะเน้นการแก้ปัญหาเป็นประเด็นสำคัญ  ไม่นิยมการเสริมแต่งเพื่อความสวยงามจนเกินความจำเป็น

*         ความเหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้งาน

            เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสรีระของผู้ใช้งานมาก่อนสิ่งอื่นใด  รูปแบบของผลิตภัณฑ์จะเป็นไปในลักษณะที่จงใจให้เกิดการตอบสนองทางกายภาพที่ดี  ไม่ก่อให้เกิดความเมื่อยล้าโดยง่าย กระชับได้ส่วนกับสรีระ เป็นต้น

 

*         การออกแบบที่เน้นการประหยัดเนื้อที่

            เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงการประหยัดเนื้อที่ในการขนส่ง  การจัดเก็บ  และการพกพาเป็นสำคัญ  รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดการประหยัดเนื้อที่ได้นั้น  มักจะเป็นไปในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่พับได้  ซ้อนได้  ยืดหดได้  ถอดประกอบได้ เป็นต้น

 

*         การออกแบบที่เน้นความคล่องตัวในการใช้งาน

            เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นการแก้ปัญหาด้านการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกมากขึ้น  รูปแบบของผลิตภัณฑ์มักเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม  และวิถีการดำเนินชีวิตทั้งทางการงานและส่วนตัว  ควบคู่กับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี

 

*         ความสัมพันธ์กันระหว่างรูปลักษณ์กับพฤติกรรมการใช้งาน

            เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่อาศัยการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรูปลักษณ์กับพฤติกรรมการใช้งานที่ตอบรับกัน เช่น การรวมเอาผลิตภัณฑ์ที่มีตำแหน่งการใช้งานเดียวกันเข้าด้วยกัน  แต่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของการใช้สอยเดิม  ข้อเด่นของแนวคิดนี้คือเกิดความเรียบร้อยและสร้างความประหลาดใจเมื่อพบเห็นได้มาก

แบบจำลองการเกี่ยวโยงกันระหว่างประโยชน์ใช้สอยกับปัจจัยด้านอื่น ๆ

(The function complex)

 

 


          จากภาพของ Function complex  ทำให้มองเห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างประโยชน์ใช้สอยในการออกแบบกับปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ได้ภาพชัดเจนขึ้น  โดยประกอบด้วย

1.     ความจำเป็น (Need) การออกแบบนั้นควรเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่แท้จริง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพื่อสนองเพียงความต้องการเท่านั้น  ถึงแม้ว่าการออกแบบสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับความพอใจต่อความรู้สึกของมนุษย์มากขึ้นก็ตาม  แต่ฐานะทางเศรษฐกิจโดยรวมของผู้บริโภคยังคงบีบบังคับให้ต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตามจำเป็นในการแก้ปัญหาเป็นส่วนใหญ่

2.     จุดมุ่งหมาย (Telesis)  การออกแบบนั้นจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เช่น เสื้อผ้าที่ทำด้วยกระดาษออกแบบมาอย่างสวยงาม  ราคาถูก  และไม่ต้องการเก็บรักษา  จุดประสงค์ก็เพื่อจะได้เปลี่ยนรูปแบบสม่ำเสมอ  หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ให้มีอายุสำหรับการใช้สอยที่ตายตัว โดยผู้ใช้ไม่ต้องคำนึงถึงการซ่อมแซมหรือดูแลรักษาใดๆ ทั้งสิ้น  เมื่อครบอายุการใช้งานตามที่ระบุไว้ให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไป  เช่น  ประเพณีการสร้างบ้านดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นจะขึ้นอยู่กับขนาดเสื่อ 3´6  ฟุต  ซึ่งทำด้วยฟางที่อัดแน่นปิดคลุมด้วยหวายสาน  ด้านข้างมัดไว้ด้วยผ้าแถบสีดำ เสื่อนั้นจะถูกนำมาต่อกันในรูปแบบซ้ำๆ (modular) จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะช่วยในการเก็บเสียงและรักษาความสะอาด  โดยฝุ่นหรือผงต่างๆ จะตกลงไปชั้นในของเสื่อ เสื่อนั้นจึงทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องดูดฝุ่น  แล้วเสื่อจะถูกเปลี่ยนใหม่เป็นระยะเวลาสม่ำเสมอ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การรวมบรรยากาศการออกแบบที่ต่างวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน เช่น แบบตะวันออกรวมกับแบบตะวันตก  จุดมุ่งหมายก็เพื่อต้องการแสวงหาประสบการณ์และสภาพชีวิตที่มีเสน่ห์แปลกออกไปจากธรรมดาที่คุ้นเคย

3.     การสื่อความหมาย (Association) ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดในการออกแบบและความสัมพันธ์ของจิตใต้สำนึกระหว่างผู้ใช้กับงานออกแบบนั้น  ควรสะท้อนคุณค่าที่ดีบางประการได้  เช่น เก้าอี้ในมุมมองของคนรุ่นใหม่  จะไม่ใช่เป็นเพียงที่สำหรับนั่งเท่านั้น แต่จะต้องเพียบพร้อมไปด้วยความสวยสง่า  เป็นระเบียบเรียบร้อย แข็งแรง  สามารถที่จะขนย้ายหรือเป็นอะไรที่ดีๆ อื่นๆ อีกได้

4.     ความสุนทรีย์ (Aesthetic) เป็นเครื่องมือที่ช่วยแสดงความจริงในการจัดรูปทรงและสี  ทำให้เกิดความพอใจ  เกิดอารมณ์  เกิดความตื่นเต้นและความสุขรื่นเริงได้  ความสุนทรีย์นั้นไม่มีมาตรวัด  การตัดสินขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชอบส่วนตัว  แต่โดยธรรมชาติแล้วการรับรู้ด้านความงามของมนุษย์มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน  ส่วนความรู้สึกพออกพอใจจากสิ่งต่างๆ ที่ดูง่ายๆ  แต่งดงามที่เรียกว่าความสละสลวย(Elegance) มักเป็นการลดทอนความยุ่งเหยิงให้ง่ายเข้าจนเป็นแบบที่สมบูรณ์ (Near-perfect)  องค์ประกอบของความงามนั้นมีอยู่หลายอย่าง เช่น รูปลักษณ์ วัสดุที่ใช้  วิธีการทำฯลฯ

5.     วิธีการ (Method) เป็นวิธีดำเนินงานที่เกี่ยวโยงกันของวัสดุ(Material)เครื่องมือ/เครื่องจักร(Tool/Machine)และกรรมวิธี(Porcess) การออกแบบควรมีความซื่อสัตย์ต่อคุณค่าตามสภาพที่แท้จริงของวัสดุนั้นๆ โดยไม่ทำให้ค่าของวัสดุนั้นด้อยลงไป  ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุชนิดหนึ่งเพื่อเลียนแบบวัสดุอีกชิ้นหนึ่ง เช่น คานเหล็กที่ใช้สีทาทับให้เหมือนไม้ ขวดพลาสติกที่ออกแบบให้เหมือนขวดแก้วที่มีราคาแพง เป็นต้น  การเลือกใช้วัสดุต้องเลือกวัสดุที่ใช้งานได้ดีกว่า  ถูกกว่า มาแทนวัสดุที่แพงกว่า และไม่ควรใช้วัสดุกับเครื่องมือ/เครื่องจักร หรือวิธีการที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

6.     การใช้งาน (Use) การออกแบบนั้นต้องสามารถใช้การได้ดีและได้สัดส่วน เช่น ขวดบรรจุยาเม็ด  ควรออกแบบให้เทยาออกได้ทีละเม็ด  ขวดเหมึกไม่ควรล้มคว่ำง่าย ประโยชน์ใช้สอยขั้นพื้นฐานของรถยนต์  นอกจากจะเป็นยานพาหนะแล้ว  ยังต้องเป็นเครื่องวัดฐานะและเป็นสถานที่ส่วนตัวในการประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง รับประทานอาหาร แต่งตัว ขนย้ายสัมภาระ ฯลฯ


Click to close