ภูมิปัญญาท้องถิ่น

           ความล้าหลังที่เจริญก้าวหน้า ทำให้เราหวนกลับไปหาข้อดีของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งถูกปฏิเสธคุณค่าไปเมื่อเรามุ่งแต่รับวิทยาการและความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีสมัยใหม่

           แนวคิดในการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมักเป็นลักษณะของการนำเสนอเรื่องราวของงานออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย  การขยายความคิดว่าสิ่งนั้นสร้างมาจากรากเหง้าของเราอย่างไร  แฝงเร้นด้วยปรัชญา  ความเชื่อ  ความศรัทธาใดบ้าง และมันมีเสน่ห์อะไรที่ทำให้ดำรงอยู่ได้ยาวนานเช่นนั้น  แล้วเราในฐานะของชนรุ่นหลังได้ให้คุณค่ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมานานปีนั้นมากน้อยเพียงไร  การสร้างสรรค์ผลงานด้วยวิธีนี้นอกจากความภูมิใจของนักออกแบบแล้ว ยังเป็นความภูมิใจของคนในท้องถิ่นนั้นด้วย 

การต่อยอดของเก่า

            บทความจริงที่ว่าไม่มีความคิดที่จะเป็นเรื่องสร้างสรรค์ใหม่โดยสิ้นเชิง ทุกสิ่งล้วนเกิดบนหรือเกิดจากความคิดอันอื่นๆ เสมอ  ดังนั้นการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการต่อยอดผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรไว้แล้วสั้น นับเป็นการใช้ฐานข้อมูล(data-based)  ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีคุณค่า  อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับขั้นที่สูงกว่าและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

            ในอีกมุมมองหนึ่งของการตลาดแล้ว การตั้งแนวความคิดแบบใหม่ถอดด้ามสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องยาก  เพราะกว่าที่แนวคิดจะเป็นรูปธรรมได้ต้องใช้เวลาและเงินลงทุนสูง  รวมทั้งมีภาวะความเสี่ยงสูงด้วย  ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือ การออกแบบต่อยอดของเก่า  โดยการนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงเพิ่มเติมคุณสมบัติบางประการให้เกิดผลดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ปลอดภัยกว่า ประหยัดกว่า  กะทัดรัดกว่า ทนทานกว่า ใช้งานง่ายกว่า ดูแลรักษาง่ายกว่า  รูปแบบดูดีและทันสมัยกว่าฯลฯ เช่น พัดลมใบพัดรูปแบบมาตรฐานทั่วไปนำมาพัฒนาดัดแปลงเป็นพัดลมหลายหัว พัดลมมือถือ พัดลมพับเก็บได้  พัดลมไอน้ำ พัดลมมีกลิ่นหอม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากการคิดต่อยอดของเก่าทั้งสิ้น ทำให้เกิดเป็นทางเลือกใหม่กับผู้ใช้และผู้ผลิตตามมาอีกมากมาย 

มุมมองของผู้บริโภค

           แนวคิดนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาการออกแบบจากมุมมองของตัวเอง  จากวัสดุและงานผลิต หรือจากหลักการทางศิลปะที่ตนคุ้นเคย  แต่ไม่ค่อยจะมองในมุมของผู้บริโภคในแง่รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์  สีสัน ราคาขาย การขนส่ง วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมทางสังคมของกลุ่มเป้าหมายสินค้านั้นๆ มากนัก  แต่ในทางที่ถูกต้องแล้วการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีนั้น  จะต้องตอบสนองความต้องการทั้งของผู้ออกแบบและผู้บริโภคได้  โดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากความสนใจส่วนตัว  ดังนั้นความสำเร็จของการออกแบบจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ให้ผู้บริโภคในสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ  ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจะให้ผู้บริโภคเป็น สำหรับนักออกแบบแล้วมักจะตาบอดหรือมองไม่เห็นว่าผู้บริโภคจะมองความคิดของเขาว่าอย่างไร แต่สำหรับผู้บริโภคในทุกระดับชั้นแล้ว  จะจ่ายเงินซื้อก็ต่อเสื่อผลิตภัณฑ์นั้นเป็นของที่เขาต้องการจริงๆ  เท่านั้น

การใช้ธรรมชาติเป็นแม่แบบ

            แนวคิดนี้เชื่อว่าธรรมชาติเป็นนักออกแบบที่ยอดเยี่ยม  ผลิตภัณฑ์ที่ธรรมชาติสร้างมาทุกชนิดที่ยังดำรงอยู่  ล้วนประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งสิ้น  หากไม่เป็นเช่นนั้นก็คงถูกทำลายไปแล้ว  ดังนั้น  ธรรมชาติจึงเป็นครูที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถศึกษา เปรียบเทียบ หรือคัดลอกแนวคิดไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ใดๆ อย่างเช่น  หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างและหลักการเคลื่อนไหวคล้ายแมงมุมหรือกิ้งกือ  มันฝรั่งทอดในกระป๋องยี่ห้อ  Pringles  ที่มีลักษณะเป็นลอนโค้ง  ก็ได้แนวคิดมาจากใบไม้แห้งที่คนสวนวางซ้อนๆ กันทีละใบ  และเมื่อใส่ในกระป๋องลูกเทนนิส  ก็พบว่าใบไม้ที่ธรรมชาติออกแบบมาเป็นคลื่นมีลอนไม่แตกหักง่าย  ถึงลมนิรภัยในรถยนต์เกิดจากการสังเกตเห็นเด็กๆ  ที่ชายทะเลวิ่งชนกัน โดยมีลูกบอลอยู่ตรงกลางแต่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ  เข็มฉีดยาเกิดจากการลอกเลียนการทำงานของเขี้ยวงูหางกระดิ่งที่ฉีดพิษได้โดยผ่านรูตรงกลางฟันของมัน  เรือดำน้ำใช้หลักการทำงานของปอดปลาและลดอากาศในถุงลมเพื่อเปลี่ยนระดับความลึกในน้ำ เครื่องบินไอพ่นใช้ระบบแรงดันขับเคลื่อนผ่านอากาศ  เหมือนกับที่ปลาหมึกใช้ระบบแรงดันในน้ำ  เป็นต้น

 


Click to close