การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม

          เอ็ดวิน อี. บ๊อบโรว์  กล่าวว่า  "มนุษย์มีสิ่งจำเป็นน้อย  แต่มีความอยากมากมาย  จงค้นหาสิ่งต่าง ๆ  ที่คนต้องการ  แล้วจึงผลิตมันขึ้นมา"

          ความจริงแล้วมนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากนวัตกรรม แต่เมื่อประวัติศาสตร์หมุนเวียนเปลี่ยนไป  แนวโน้มการพึ่งพิงนวัตกรรมใหม่(Innovation) ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นองค์ประกอบจำเป็นสำหรับอารยธรรมของเรา  ดังนั้นหากต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ประสบความสำเร็จ  ให้พัฒนาเฉพาะสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการจะซื้อเท่านั้น นักออกแบบอาจจะชอบความคิดของตัวเองเหมือนแม่ที่เห็นลูกตัวเองน่ารัก  แต่คนอื่น ๆ  จะชอบความคิดของเราหรือไม่  ยังเป็นคำตอบคลุมเครือที่ต้องรอการพิสูจน์  ดังนั้นการค้นหาสิ่งต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องการ  แล้วจึงผลิตมันขึ้นมาดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและมีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวทางธุรกิจน้อยกว่า

ในการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม  สิ่งที่ควรคำนึงถึง  ได้แก่

1.       ประเภทของนวัตกรรม

ในมุมมองของที่ปรึกษาทางการตลาด โทมัส  โรเบิร์ตสัน แบ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ออกเป็น  3  ประเภท  ได้แก่

*      นวัตกรรมแบบต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ต้องการการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมน้อยมาก  ได้แก่ รถยนต์รุ่นใหม่ พัดลมรุ่นใหม่ ทีวีรุ่นใหม่ เครื่องเสียงรุ่นใหม่  ที่ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเดียวกัน 

          ข้อดีของนวัตกรรมประเภทนี้  คือ  ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยอยู่แล้วเพียงแต่ใช้เวลาหรือความพยายามนิดเดียวก็สามารถเรียนรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ได้แล้ว

          ข้อเสียคือ ผู้บริโภคอาจไม่รับรู้ว่ามันแตกต่างจากผลิตภัณฑ์เดิมไม่รับรู้ถึงความตื่นเต้น ยังไม่เกิดความคิดที่จะเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาแทนของเดิมที่มีใช้งานอยู่

*      นวัตกรรมแบบต่อเนื่องอย่างไม่หยุดนิ่ง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีระดับการเรียนรู้พอสมควร  และอาจมีการหยุดชะงักในแบบแผนการบริโภคเดิมบ้าง เช่น แปรงสีฟันไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ช่วยในการหมุนแปรงแทนการขยับมือ เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติที่ใช้การกดปุ่มเพียงครั้งเดียว  เครื่องทำขนมปังอัตโนมัติที่เป็นทั้งเครื่องผสมนวดแป้งและอบขนมปังในตัว เครื่องทำน้ำเต้าหู้อัตโนมัติที่เพียงแต่ใส่น้ำและถั่วเหลืองลงไปเท่านั้น เป็นต้น

              ข้อดีของนวัตกรรมประเภทนี้คือ  เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระดับการเรียนรู้ที่ยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมเดิม ข้อเสียคืออาจยังไม่ใหม่พอที่จะสร้างความตื่นเต้นในท้องตลาด

 

*      นวัตกรรมแบบไม่ต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ต้องการการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในระดับที่สูง  และมีความท้าทายสูงมากในการทำตลาด เช่น เตาไมโครเวฟแทนที่เตาไฟฟ้า  กล้องดิจิตอลแทนที่กล้องถ่ายภาพแบบใช้ฟิล์ม  รถขับเคลื่อนด้วยรังเชื้อเพลิง (Fuel  cells)  ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าของไฮโดรเจนกับออกซิเจนแทนที่รถขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน  เป็นต้น  ข้อดีของนวัตกรรมประเภทนี้คือสร้างความตื่นตาตื่นใจและความน่าสนใจให้เกิดขึ้นกับตลาดได้มาก  ข้อเสียคือมีความเสี่ยงสูงและต้องสร้างความตื่นเต้นมากพอที่จะโน้มน้าวใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในพฤติกรรมผู้บริโภค  และต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดใหม่  ต้องมีทีมงานขายพิเศษ  ต้องมีการโฆษณาหรือแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลสำหรับการอธิบายข้อดีของนวัตกรรมนั้น ๆ

 

2.       นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์

การสร้างนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์  ประกอบด้วย

*      กำหนดวัตถุประสงค์(Objective) และเป้าหมาย(Goal)ต่างๆ ในท้องตลาด  วัตถุประสงค์และเป้าหมายดูจะมีความหมายที่สัมพันธ์กัน  แต่จะเป็นการดีที่สุดในการกำหนดเป้าหมายเสียก่อน  แล้วจึงกำหนดวัตถุประสงค์ที่จำเป็นสำหรับนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย  เนื่องจากวัตถุประสงค์อธิบายถึงเฉพาะสิ่งที่ต้องการจะบรรลุในระยะสั้น  ส่วนเป้าหมายอธิบายถึงสิ่งที่ต้องการจะบรรลุในระยะยาว

*        ประเมินทรัพยากรและความได้เปรียบขององค์กรหรือบริษัท

*      วางแผนสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรและความได้เปรียบ เพื่อที่จะได้สร้างความประหลาดใจ  ความล้ำหน้าคู่แข่งขัน  และบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายต่างๆ ที่กำหนดไว้

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้น  บาง  เล็ก  และให้อิสระ

            ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคในยุคดิจิตอลส่วนใหญ่ปรารถนาคือขนาดเล็ก  พกพาสะดวก น้ำหนักเบา ใช้งานคล่องตัว  และอัดแน่นด้วยสมรรถนะ  แต่การที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณลักษณะเบา บาง  เล็ก และให้อิสระได้นั้น มักต้องอาศัยความก้าวหน้าทางวัสดุและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่มาช่วยแก้ปัญหา

 


Click to close