นกมีวิวัฒนาการมานานหลายล้านปีเพื่อให้สามารถบินในอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการหาอาหาร ทำรังวางไข่ หลบหลีกศัตรู และย้ายถิ่นอาศัย โดยนกต้องพึ่งพาปีกซึ่งพัฒนามาจากขาหน้า เป็นเครื่องมือสำคัญในการบิน


การบินของนกมีรูปแบบแตกต่างกัน ๔ แบบดังนี้
                    1. การบินโบกปีก (flapping) เป็นการบินโบกปีกขึ้นลง แบบที่เห็นนกบินทั่วไป


                    2. การบินทรงตัวอยู่กับที่ (hovering) เป็นการบินโดยกระพือปีกเร็วๆ จนเกิดแรงยกต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ให้ทรงตัวนิ่งอยู่กลางอากาศ ส่วนใหญ่เป็นนกตามทุ่งโล่ง เช่น เหยี่ยวขาว นกกะเต็นปักหลัก


                      3. การบินร่อนลดระดับ (gliding) เป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุดของการบิน เพียงทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างหน้าให้มากกว่าแรงต้านทานของอากาศ นกก็สามารถร่อนและลดระดับลงต่ำได้


                       4. การบินร่อนรักษาระดับ (soaring) ส่วนใหญ่ต้องเป็นนกขนาดใหญ่ ถึงจะร่อนแบบนี้ได้โดยไม่เสียการทรงตัว นกอินทรีจะอาศัยอากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นจากพื้นดิน ช่วยพยุงตัวให้ร่อนอยู่กลางอากาศ ส่วนนกทะเลจะใช้ กระแสลมช่วยพัดตัวพุ่งไปข้างหน้า และจะร่อนอยู่ด้วยแรงเฉื่อย จนมีกระแสลมพัดมาใหม่

 


                          ปีกของนกมีขนาดและรูปร่างต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของนกแต่ละชนิด ดังนี้


                       ปีกแคบและยาว เหมาะสำหรับการร่อนโดยเฉพาะ พบในนกทะเลที่ชอบร่อนเหนือน้ำทั้งวัน โดยแทบไม่กระพือปีกเลย เช่น นกโจรสลัด


                        ปีกแบบ เรียวบาง และลู่ไปทางด้านท้าย ช่วยให้บินได้เร็วและเลี้ยวไปมาอย่างคล่องแคล่ว พบในนกที่บินหากินตลอดเวลา เช่น นกนางแอ่น และนกที่บินย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกล ๆ เช่น นกชายเลน


                         ปีกโค้งใหญ่และปลายขนปีกแยกจากกัน สำหรับร่อนที่สูง ช่วยให้นกบินลอยตัวได้สูงขึ้น และร่อนตามลมได้ดี พบในนกขนาดใหญ่ที่ร่อนหากินระดับสูง เช่น นกอินทรี   แร้ง

          ปีกแคบและสั้น เหมาะสำหรับบินเร็วๆ ช่วงสั้นๆ ส่วนใหญ่พบในนกที่อาศัยอยู่ตามป่า เช่น นกเขา นกปรอด



      ความยาว 2.50 นาที



 [กลับสู่ด้านบน]